RECENT STORIES

30 เมษายน… ควีนส์เดย์ปีสุดท้ายของเนเธอร์แลนด์

(โดย… บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล)

เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา ข่าวชิ้นหนึ่งสร้างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจระดับโลก เพราะเป็นวันที่ราชินีเบทริกซ์ หรือชื่อเต็มว่า Beatrix Wilhelmina Armgard ในฐานะประมุขของรัฐ (Head of state) ของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (Kingdom of the Netherlands) ประกาศสละราชสมบัติที่ครองมา 33 ปี ตั้งแต่ปีคศ.1980 ให้กับพระโอรสองค์โตชื่อวิลเลม อเล็กซานเดอร์ (Willem Alexander) พระชนมายุ 45 พรรษา

ซึ่งเป็นการประกาศแบบที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนผ่านรายการทางโทรทัศน์ที่ถ่ายทำมาล่วงหน้า ก่อนที่จะถึงวันประสูตรของราชินีเองในวันที่ 31 มกราคมซึ่งมีพระชนมายุ 75 พรรษา และในโอกาสที่เป็นปีครบรอบ 200 ปีที่เนเธอร์แลนด์เปลี่ยนจากประเทศสาธาณรัฐ (Dutch Republic) เป็นราชอาณาจักรหรือมีสถาบันกษัตริย์นับจากปี 1814 เป็นต้นมา

การสละราชสมบัติอย่างเป็นทางการจะมีการดำเนินการในทางปฏิบัติในวันที่ 30 เมษายนนี้ ซึ่งเนเธอร์แลนด์ประกาศเป็นวันควีนส์เดย์ (Queen’s Day) หรือในภาษาดัตช์เรียกว่า koninginnedag โดยเป็นวันเฉลิมฉลองวันประสูติของกษัตริย์หรือราชินีและวันหยุดราชการ ความจริงวันที่ 30 เมษายนนั้นไม่ใช่วันประสูติของของราชินีเบทริกซ์ แต่เป็นวันประสูติของพระมารดาของพระองค์คือราชินีจูเลียนา (Juliana) แต่ยังคงให้ใช้วันนี้แทนวันเกิดของพระองค์เอง เพราะเห็นว่ารูปแบบการเฉลิมฉลองที่ประชาชนมีส่วนร่วมในวันนี้ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมกลางแจ้ง ดังนั้น วันที่ 30 เมษายน ที่อยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิจึงเหมาะสมกว่าวันประสูติของพระองค์ที่อยู่ในฤดูหนาว

Queen Beatrix of the Netherlands (C) is showered with streamers and confetti during Queen's Day in Veenendaal on April 30, 2012. AFP PHOTO/ANP/ROBIN UTRECHT netherlands out - belgium outROBIN UTRECHT/AFP/GettyImages ORG XMIT:

Queen Beatrix of the Netherlands (C) is showered with streamers and confetti during Queen’s Day in Veenendaal on April 30, 2012. AFP PHOTO/ANP/ROBIN UTRECHT netherlands out – belgium outROBIN UTRECHT/AFP/GettyImages ORG XMIT:

(Source:รูปภาพ http://blogs.voanews.com/photos/2012/04/)

ปีนี้จึงเป็นการเฉลิมฉลองวันควีนส์เดย์ที่ตรงกับวันที่ 30 เมษายนเป็นปีสุดท้าย เพราะผู้ที่จะมาเป็นประมุขของรัฐคนใหม่เป็นพระโอรส จึงประกาศเปลี่ยนวันเฉลิมฉลองเป็นวันคิงส์ เดย์ (King’s Day) หรือ Koningsdag ในภาษาดัตช์ และตรงกับวันประสูติของกษัตริย์องค์ใหม่คือวันที่ 27 เมษายน โดยจะเริ่มฉลองวันนี้อย่างเป็นทางการในปี 2014 แต่รัฐบาลได้ประกาศให้จัดในวันที่ 26 เมษายนซึ่งเป็นวันเสาร์แทน เพราะวันที่ 27 เมษายนในปีดังกล่าวตรงกับวันอาทิตย์

ประเพณีการเฉลิมฉลองวันควีนส์เดย์นั้นมีการสืบทอดจากการเฉลิมฉลองวันประสูติของราชินีวิลเฮสมีน่า (Wilhelmina) ซึ่งตรงกับวันที่ 31 สิงหาคม ตั้งแต่ปี 1885 ซึ่งในขณะนั้นเป็นประเพณี “วันเจ้าหญิง” (Princess Day) ที่ปฏิบัติต่อเนื่องมาจากการเฉลิมฉลองวันเกิดของพระเจ้าวิลเลมที่ 1 (Willem I) กษัตริย์ดัตช์ราชวงศ์ออเรนจ์องค์แรก ตอนนั้นประชาชนแสดงความยินดีด้วยการเดินพาเหรด เล่นเกมและแสดงดนตรี รวมถึงการจุดพลุดอกไม้ไฟ แต่ถือว่าเป็นการเฉลิมฉลองของประชาชนฝ่ายเดียว ขณะที่ฝ่ายกษัตริย์หรือเจ้าหญิงไม่ได้ออกมามีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนมากนัก จนกระทั่งในช่วงที่ราชีนีจูเลียนาครองราชย์ ได้เกิดรูปแบบใหม่โดยมีการรวมตัวกันของเชื้อพระวงศ์ที่ขั้นบันไดของพระราชวัง Soestdijk และมีประชาชนให้การต้อนรับและมอบของที่ระลึก รูปแบบการปรากฏตัวของกษัตริย์เปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงในช่วงที่ราชินีเบทริกซ์ขึ้นครองราชย์ โดยประชาชนไม่ต้องไปเข้าเฝ้ากษัตริย์ แต่กลับกันคือกษัตริย์ไปหาประชาชน โดยเลือกที่จะไปเยี่ยมประชาชนในเมืองหรือแคว้นต่างๆสัก 1-2 แห่งของแต่ละปี โดยเริ่มปฏิบัติตั้งแต่ปี 1981 เป็นต้นมา อย่างปี 2012 ล่าสุดราชินีเบทริกซ์ได้เดินทางไปยังเมือง Rhenen และ Veenendaal ที่อยู่ตอนกลางของประเทศ

queensday_2011_canal_721

นอกเหนือจากกิจกรรมของราชินีหรือกษัตย์แล้ว ที่น่าสนใจและเป็นปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าคือการที่ประชาชนทั้งประเทศใส่เสื้อสีส้ม ซึ่งเป็นสีประจำราชวงศ์ออเรนจ์ จัดเกมหรือกิจกรรมและเฉลิมฉลองกันทั่วประเทศ แต่ที่ยิ่งใหญ่และคึกคักมากที่สุดคือที่อัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของประเทศ โดยคนจากเมืองอื่นๆก็จะเดินทางมาฉลองที่เมืองนี้กันด้วย เพราะถือเป็นการฉลองวันหยุดไปในตัว เพราะผู้คนทั้งเต้น เล่น และดื่มแอลกอฮอลล์กันอย่างสนุกสนานทั้งตามท้องถนนและในคลองต่างๆรอบเมือง และในวันนี้อาจจะเห็นคนล้อเลียนหรือแสดงการวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์หรือราชินีได้ตราบใดที่ไม่เข้าข่ายการหมิ่นประมาท ในตอนกลางคืนก็มีการแสดงดนตรีสดที่สนามหญ้าบริเวณศูนย์รวมของพิพิธภัณฑ์หรือ Museumplein และที่เป็นประเพณีน่าสนใจอีกอย่างคือการที่คนดัตช์จะนำเอาของเก่าในบ้านต่างๆมาวางขายโดยที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตและไม่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐ เมืองหลายเมืองของเนเธอร์แลนด์จึงกลายสภาพเป็นตลาดคนเดินไปโดยปริยาย เล่ากันว่าราชินีเบทริกซ์เองก็เคยซื้อโคมไฟตั้งพื้นจากตลาดถนนคนเดินในวันนี้กับประชาชนธรรมดาเหมือนกัน

queensdayflea

และสำหรับคนที่ฟังภาษาดัชต์เข้าใจ ปีนี้มีโปรแกรมที่น่าสนใจคือปีนี้มีการแสดงละครเวทีเรื่อง “เบทริกซ์และนายกรัฐมนตรีทั้ง 5” (Beatrix en de Premiers) ที่ De Balie ในเมืองอัมสเตอร์ดัม เพื่อให้เข้ากับบรรยาการการสละราชสมบัติของราชินีเบทริกซ์ ผู้เขียนบทละครจึงสร้างเรื่องราวของราชินีเบทริกซ์กับนายกรัฐมนตรีทั้ง 5 คนที่ทำงานในช่วงที่ราชินีครองราช ซึ่งเรื่องนี้อาจทำให้เข้าใจความสัมพันธ์ของสถาบันกษัตริย์กับระบบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญของเนเธอร์แลนด์ได้อย่างน่าสนใจ โดยการแสดงจะมีวันที่ 23 และ 27 เมษายนนี้เวลา 20.00 น.

 

(สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่http://www.debalie.nl/artikel.jsp?articleid=476272)

อ้างอิง

A.E.Komter.2007. “The Paradox of modern monarchy: Distance and Proximity” in D.J. Elzinga

(ed.) The Dutch Constitutional Monarchy in a Changing Europe (pp.61-68). The Netherlands: Kluwer Legal Publishers.

http://www.guardian.co.uk/world/2013/jan/28/queen-beatrix-netherlands-abdicates

http://www.dutchnews.nl/news/archives/2013/01/the_queens_abdication_speech_i.php

http://en.wikipedia.org/wiki/KoninginnedagAmsterdam-canal-on-queens-day

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.