RECENT STORIES

ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมฯ ประจำปี 2560/2561

ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฉบับที่ 3/2560

เรื่อง ประกาศชื่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งนายกสมาคมนักเรียนไทยในราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์  ประจำปีการศึกษา 2560/2561 และเสนอนโยบาย

ในปีนี้ มีผู้ตอบรับการทาบทามและลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมฯ 2 คน คือ

1. ภญ. ธันธิมา สุวรรณถาวรกุล (เน็ท)
2. นายศิริวัฒน์ ยอแสงทอง (ไอซ์)

23336524_10203930447299535_648494786_o

รายละเอียดต่อไปนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับผู้สมัคร

หมายเลข 1

IMG_3066

ข้อมูลส่วนตัว   (อ่าน CV ได้ที่นี่ )

ชื่อ                  ภญ. ธันธิมา สุวรรณถาวรกุล (เน็ท)
วันเดือนปีเกิด  1 ธ.ค. 2532
กำลังศึกษา     ระดับปริญญาโท   หลักสูตร Clinical and Psychosocial Epidemiology
สถาบัน           University Medical Center Groningen เมือง Groningen                                          (นักเรียนทุน Orange Tulip Scholarship และทุน Holland Scholarship)

ประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเป็นนายกสมาคมฯ 

  • ผู้ประสานงาน Incoming Exchange Students ระหว่าง University of Groningen และ Chula Faculty of Economics International Affairs Office (พ.ศ. 2560-ปัจจุบัน)
  • หัวหน้าผู้ช่วยเลขานุการและผู้ทำงาน (พ.ศ. 2558-2559) ผู้ช่วยเลขานุการและผู้ทำงาน (พ.ศ. 2557-2558)
  • คณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ
  • ประธานฝ่ายหารายได้ คณะกรรมการจัดทำหนังสืออนุสรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2555-2556)
  • หัวหน้าโครงการประกวดแผนการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพครั้งที่ 7 จัดโดยสมาคมเภสัชกรรมการตลาด  ภายใต้เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2555)
  • ประธาน (พ.ศ. 2554) และที่ปรึกษา (พ.ศ. 2555) ฝ่ายเภสัชสาธารณสุข ค่ายอนามัยชุมชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์และวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย
  • คณะกรรมการชมรมเยาวชนธนาคารโลก (World Bank Youth Club) ภายใต้การสนับสนุนจากธนาคารโลก (World Bank) เพื่อพัฒนาโครงการยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยการให้บริการด้านความรู้และจัดกิจกรรมด้านการวางแผนการลงทุนและบริหารการเงินสิ่งแวดล้อม และสถานการณ์โรคเอดส์ (พ.ศ. 2552-2553)

จุดอ่อนจุดแข็งในการทำงาน

  • สร้างสรรค์ เปิดรับความคิดและมุมมองใหม่ๆ เน้นการทำงานเป็นทีมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลายจากประสบการณ์และความถนัดตามสาขาที่ศึกษา
  • เป็นกันเอง ยืดหยุ่น แนวทางการทำงานสามารถปรับความเหมาะสมตามบริบทของสถานการณ์นั้นๆ และเทคโนโลยีในปัจจุบันได้
  • กระจายอำนาจการตัดสินใจและการดำเนินงานให้ผู้ทำงานทุกฝ่ายมีอิสระในการทำงานโดยไม่ต้องรอการพิจารณาจากนายกสมาคมฯ ทุกครั้ง
  • ดำเนินการเร็ว ตัดสินใจเร็ว เน้นการทำงานเพื่อประสิทธิผลสูงสุด (Efficient)
    จึงอาจทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมในการประชุมแต่ละครั้งต้องเตรียมตัวมากเพื่อให้มีข้อมูลเพียงพอประกอบการตัดสินใจดำเนินการ

Vision: หากท่านได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมฯ เมื่อหมดวาระ ท่านอยากเห็นชุมชนนักเรียนไทย/สมาคมนักเรียนไทยเป็นอย่างไร?

  • มีความสัมพันธ์ที่ดีอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง ทั้งผู้ที่ยังคงศึกษาอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้ที่เดินทางไปทำงานหรือศึกษาต่อประเทศอื่น และผู้ที่เดินทางกลับประเทศไทยแล้ว โดยอาจมีการพบปะสังสรรค์เป็นครั้งคราวตามความสะดวกเพื่อแลกเปลี่ยนและอัพเดทความเป็นไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดความร่วมมือในอนาคตต่อไป เช่น การลงทุนร่วมกัน การจัดกิจกรรมทำอาหาร/ทำขนม/ออกกำลังกาย/บำเพ็ญประโยชน์ร่วมกัน ฯลฯ
  • มีศักยภาพและบทบาทที่มากขึ้นทั้งในแง่ของด้านวิชาการและทักษะการปรับตัวเพื่อการศึกษา/ใช้ชีวิตในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเพิ่มความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นในภาคพื้นยุโรป เช่น สมาคมนักวิชาชีพไทยในภูมิภาคยุโรป (ATPER) ในการเตรียมความพร้อมและผลักดันนักเรียนไทยเข้าสู่บทบาทนักวิชาชีพไทยทั้งในประเทศไทยและนอกประเทศไทย

Policies: ท่านมีแนวทาง/นโยบาย อย่างไร หรือจัดกิจกรรมอะไร

  • จัดทำ Orientation Handbook โดยเน้นการใช้ชีวิตพื้นฐานของแต่ละเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกต่อนักเรียนใหม่ ได้แก่ แนะนำแหล่งซื้อขายของ/ตั๋วรถไฟออนไลน์ราคาถูกของชาวดัชท์ แนะนำแหล่ง supermarket เอเชียพร้อม location และ FAQ ต่างๆ เช่น การเปิดบัญชีธนาคาร ประโยชน์ของเลข BSN และ DigiD การขึ้นรับรองใบปริญญาว่าถูกต้องตามกฎหมาย (Legalization certificate) เป็นต้น
  • จัด Workshop ที่จำเป็นในแง่ของการพัฒนาทักษะ ศักยภาพ กระชับความสัมพันธ์ และสันทนาการต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสมาชิก เช่น Workshop สอนทำอาหารเมนูง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน หรืออาหารประจำชาติสำหรับนำไปใช้โปรโมทต่อเพื่อนต่างชาติ
  • จัดโครงการมัชฌิมนิเทศ (Orientation) เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนไทยในเนเธอร์แลนด์ได้รู้จักกันมากขึ้น หลังจากที่นักเรียนใหม่เริ่มสามารถปรับตัวกับการใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์ได้แล้ว
    ทั้งนี้เพื่อให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนไอเดียที่อาจเป็นประโยชน์ต่องาน/วิทยานิพนธ์ที่แต่ละคนทำอยู่
    รวมทั้งอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังมองหาความร่วมมือต่างสถาบัน หรือผู้ที่อยากได้แนวทางการทำงาน/ศึกษาต่อภายหลังจบการศึกษา ทั้งนี้อาจมีการเชิญวิทยากรภายนอกซึ่งเป็นนักวิชาการ/นักวิจัย/อาจารย์/หรือผู้ทำงานในประเทศเนเธอร์แลนด์เข้าร่วมตามความสะดวก
  • คงกิจกรรมที่มีอยู่ในปีผ่าน ๆ มา โดยพิจารณาตามความเหมาะสมในการดำเนินการ เช่น งานประชุมสามัญ งานประชาสัมพันธ์ งานสัมมนา/งานวิชาการ งานกีฬา TSAN Trip เป็นต้น
  • เปิดโอกาสให้นักเรียนไทยในเนเธอร์แลนด์ทุกคน และสมาชิกสมาคมตามเมืองต่างๆ มีสิทธิเสนอแนะความต้องการ เช่น กิจกรรมที่สนใจหรือปรับปรุงนโยบาย เพื่อกระจายการมีส่วนร่วมของกิจกรรมไปเมืองต่างๆมากยิ่งขึ้น โดยสามารถแจ้งความจำนงผ่านทางผู้ประสานงานเมือง คณะกรรมการแต่ละฝ่าย หรือโดยตรงต่อนายกสมาคมฯ ทั้งแบบเปิดเผยหรือปกปิดข้อมูลส่วนตัวของผู้เสนอประเด็นตามความต้องการของผู้เสนอประเด็น

หมายเลข 2

19143741_10154742040005773_9137994450174680659_o copy

ข้อมูลส่วนตัว

ชื่อ                  นายศิริวัฒน์ ยอแสงทอง (ไอซ์)
วันเดือนปีเกิด  24 ธันวาคม 2539
กำลังศึกษา     ระดับปริญญาตรี
หลักสูตร         International Bachelor Economics and Business Economics (IBEB)
สถาบัน           Erasmus University Rotterdam                                                                                    (นักเรียนทุนโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน – ODOS รุ่นที่ 4.2)

ประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเป็นนายกสมาคมฯ

องค์กร/ชื่อกิจกรรม                สมาคมนักเรียนไทยในราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (TSAN)
ช่วงเวลา                               พ.ศ. 2558 – ปัจจุบัน

  • อุปนายกสมาคมภายใน (พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน) และคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ (พ.ศ. 2558-2560)
  • Administrator ของ Facebook Page และ Facebook Group “Thai Student Association in the Netherlands (TSAN)” และหนึ่งในผู้ดูแลเว็บไซต์ของสมาคมฯ
  • คณะกรรมการงาน “กีฬาสามสัมพันธ์ กำแพงหอหันเกมส์ (FrieND 2016)”

องค์กร/ชื่อกิจกรรม                IBEB Committee, Economic Faculty Association Rotterdam (EFR)
ช่วงเวลา                                 กันยายน 2559 – สิงหาคม 2560

  • จัดกิจกรรมต่างๆสำหรับนักศึกษาหลักสูตร International Bachelor Economics and Business Economics (IBEB) ณ Erasmus University Rotterdam
  • เข้าร่วมกิจกรรมวิชาการต่างๆของสมาคม รวมถึงการทำงานต่างๆในฐานะคณะกรรมการของสมาคม

องค์กร/ชื่อกิจกรรม                Master Orientation Days Committee, Economic Faculty Association Rotterdam (EFR)
ช่วงเวลา                                 กันยายน 2560 – ปัจจุบัน

  • จัดกิจกรรมแนะแนวและให้ข้อมูลการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในสาขาต่างๆของคณะเศรษฐศาสตร์แก่นักศึกษาจาก Erasmus University Rotterdam
  • เข้าร่วมกิจกรรมวิชาการต่างๆของสมาคม รวมถึงการทำงานต่างๆในฐานะคณะกรรมการของสมาคม

 

จุดแข็ง/จุดอ่อนในการทำงาน

จุดแข็ง

  1. มีประสบการณ์การทำงานกับทางสมาคมฯ มาก่อนในหลายตำแหน่ง ทำให้สามารถมองเห็นถึงปัญหา และวิธีการแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงสามารถสานงานต่อจากคณะกรรมการสมาคมชุดก่อนได้อย่างต่อเนื่อง
  2. มีการวางแผนที่เป็นระบบ ทำให้สามารถดำเนินงานได้เป็นขั้นตอนชัดเจน
  3. รับฟังและเคารพในความคิดเห็นของผู้อื่น ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำไปสู่ความคิดใหม่ๆที่สามารถทำให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายได้ในอนาคต

จุดอ่อน

  1. คุณวุฒิและวัยวุฒิยังไม่สูงนัก อาจทำให้ประสบปัญหาในการประสานงานกับบุคคลที่มีคุณวุฒิและวัยวุฒิสูงกว่า

 

Vision: หากท่านได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมฯ เมื่อหมดวาระ ท่านอยากเห็นชุมชนนักเรียนไทย/สมาคมนักเรียนไทยเป็นอย่างไร

หากผมได้เป็นนายกสมาคมฯ ผมคาดหวังว่า ในวันที่ผมหมดวาระลง สมาคมฯจะมีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ สมกับที่เป็นสมาคมนักเรียนไทย มีแบบแผนการทำงานที่มั่นคงมากพอที่ผู้ที่รับช่วงต่อสามารถดำเนินงานต่อได้อย่างไร้ปัญหา สมาคมฯกลายเป็นสิ่งที่นักเรียนไทยทั้งที่กำลังศึกษาอยู่และที่กำลังจะมาศึกษาต่อในเนเธอร์แลนด์ นึกถึงเป็นอันดับแรกในยามที่ต้องการคำปรึกษาหรือความช่วยเหลือ และได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการศึกษาต่อในเนเธอร์แลนด์ ทั้งในฐานะนักเรียนในต่างแดน และในฐานะสมาชิกในเครือข่ายนักเรียนไทย

Policies: ท่านมีแนวทาง/นโยบาย อย่างไร หรือจัดกิจกรรมอะไร

นโยบายจะถูกแบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่

  1. การปรับปรุงโครงสร้างของสมาคมโดยรวมให้มีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น
    1. มีการจัดตั้งคณะกรรมการผ่านทางการทาบทามและสอบถามความสมัครใจ เพื่อให้คณะกรรมการสมาคมฯมีทั้งผู้ที่มีความสามารถในการทำงาน และผู้ที่สมัครใจจะทำงาน มีการสอนงานต่างๆ และจัดทำ How-to ในการทำงานด้านต่างๆของสมาคม เพื่อให้คณะกรรมการสามารถดำเนินงานต่อได้เองในระยะยาว
    2. วางระบบสมาชิกใหม่ เพื่อให้มีความเป็นระบบในการทำงาน
    3. ปรับปรุงกฏระเบียบของสมาคมฯให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันของสมาคม รวมถึงยึดถือและปฏิบัติงานภายใต้กฏระเบียบของสมาคมฯ
    4. เปิดบัญชีธนาคารและบัญชี PayPal แยกสำหรับการดำเนินงานของสมาคมฯโดยเฉพาะ เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารและตรวจสอบการเงินของสมาคม
    5. เชื่อมต่อกลุ่มนักเรียนไทยในแต่ละเมืองสู่ศูนย์กลางมากขึ้นโดยเชื่อมต่อ Facebook Group ของกลุ่มนักเรียนไทยในแต่ละเมืองไว้กับ Facebook Group หลัก และยังคงไว้ซึ่งผู้ประสานงานเมือง (City Coordinator) เพื่อให้การประสานงานภายในเมืองสะดวกยิ่งขึ้น และเข้าถึงกลุ่มนักเรียนได้มากยิ่งขึ้น
  2. การจัดกิจกรรมต่างๆ ให้ครอบคลุมสำหรับนักเรียน นักศึกษาไทยทุกชั้นปี
    1. คงไว้ซึ่งกิจกรรมภายในต่างๆ ที่หลากหลายจากปีก่อน เพื่อตอบโจทย์สมาชิกกลุ่มเป้าหมายหลายกลุ่ม โดยกิจกรรมจะถูกจัดกระจายตามเมืองต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เป้าหมายคือจะต้องมีกิจกรรมอย่างน้อย 1 กิจกรรม ต่อ 1 – 2 เดือน โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ชัดเจน ดังนี้
      1. TSAN Talk: กิจกรรมที่เปิดให้สมาชิกเสนอเรื่องที่ตนเองอยากแบ่งปันให้สมาชิกอื่นๆได้ฟัง
      2. TSAN Trip: กิจกรรมเที่ยวชมสถานที่ต่างๆในเนเธอร์แลนด์ ในรูปแบบไปเช้าเย็นกลับ
      3. TSAN Sport Day: การแข่งขันกีฬาภายในของนักเรียนไทยในเนเธอร์แลนด์
      4. TSAN Seminar: กิจกรรมให้ความรู้เฉพาะหัวข้อ จาก Guest Speaker
      5. TSAN Camp: การจัดกิจกรรมในรูปแบบค้างแรม
      6. TSAN Social: กิจกรรมอื่นๆที่มิได้อยู่ในเกณฑ์ข้างต้น อันมีเป้าหมายเพื่อให้สมาชิกที่เข้าร่วมได้สนุกสนานและสร้างเครือข่ายนักเรียนไทยจากต่างเมือง
    2. พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการร่วมมืองานกีฬาระหว่างสมาคมนักเรียนไทย หรือ FrieND เป็น ปีที่ 3 ติดต่อกัน
    3. รับสมัครนักเขียนประจำเว็บไซต์/Vlogger ในส่วน TSAN Know-How และ TSAN Connect เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังจะมาศึกษาต่อในเนเธอร์แลนด์
    4. มีการเปิดช่องทางให้แสดงความคิดเห็นผ่านทางอีเมล์ ทั้งในด้านไอเดียกิจกรรม หรือสิ่งที่ควรปรับปรุงแก้ไข ทั้งนี้เพื่อให้สมาคมสามารถตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิกทุกคนได้มากที่สุด
    5. พิจารณาถึงการสนับสนุนกลุ่มนักเรียนไทยในกิจกรรมต่างๆ หากกิจกรรมนั้นสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสมาคม
  3.  การประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
    1. มีการใช้ House Style/Template ในระบบประชาสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ ง่ายต่อการจดจำ
    2. พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะใช้สื่อประชาสัมพันธ์ที่นอกเหนือจากโพสต์และโปสเตอร์ เช่น คลิปวีดีโอ
  4. ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร
    1. มีการสานต่อแนวทางการดำเนินงานจากคณะกรรมการรุ่นที่ผ่านมา ที่ได้สร้างเครือข่ายไว้กับสมาคมนักเรียนไทยในประเทศอื่นๆ (เช่น สมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศส ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมนักเรียนไทยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในพระบรมราชูปถัมภ์) รวมถึงเครือข่ายกับสมาคมนักเรียนชาติ ASEAN ในเนเธอร์แลนด์ (เช่น PPI Belanda, Vietnamese Student Association in the Netherland)
    2. มีการสร้างเครือข่ายกับองค์กรอื่นๆ และชุมชนไทยในเนเธอร์แลนด์ เข้าร่วมและช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆของชุมชนไทยในเนเธอร์แลนด์ตามโอกาสหากได้รับการติดต่อขอความร่วมมือ

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.