RECENT STORIES

ระบบการศึกษาระดับปริญญาในเนเธอร์แลนด์

(อ้างอิงจาก – http://thaistudents.nl/node/449)

การเรียนระดับปริญญาที่เนเธอร์แลนด์นั้น จะแบ่งสถานศึกษาออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. โฮคเคอะสโคล (hogeschool หรือ การศึกษาระดับฮาเบโอ HBO-Hoger beroepsonderwijs) ซึ่งแปลเป็นไทยตามตัวอักษรคือ โรงเรียนฝึกวิชาชีพขั้นสูง แต่ความหมายโดยรวมแล้วน่าจะราวๆ ?วิทยาลัย? เพราะการเรียนจะง่ายกว่าระดับมหาวิทยาลัยในเนเธอร์แลนด์ การเรียนในโฮคสโคลจะเรียน 4 ปีแล้วได้รับปริญญาตรี การเรียนในโฮคสโคลจะเน้นภาคปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี บางโฮคสโคลมีเปิดขั้นปริญญาโทด้วย แต่คุณภาพการศึกษาระดับปริญญาโทและการได้รับความยอมรับ อาจไม่เท่ากับการเรียนปริญญาโทสาขาเดียวกันในมหาวิทยาลัย

2. มหาวิทยาลัย (universiteit-อูนิเแฟร์ซิไต๋ทฺ หรือ การศึกษาระดับเวโอ WO- Wetenschappelijk onderwijs = scientific education) การเรียนในมหาวิทยาลัยระบบดัชต์สมัยก่อน สาขาวิชาส่วนใหญ่จะใช้เวลาเรียน 4 ปี โดยนักศึกษาต้องสอบให้ผ่านปีแรก(propedeuse-โพรเพอะเด๊าเสอะ) ถึงจะมีสิทธิได้เรียนต่อในปีต่อไป และบัณฑิตที่จบออกมาจะได้คำนำหน้าชื่อว่า drs. ย่อมาจากภาษาละตินว่าdoctorandus (ด็อกเตอะรันดึส) แปลประมาณว่า ?ผู้ที่พร้อมเรียนต่อปริญญาเอก? หลักสูตรปริญญานี้เทียบเท่ากับเรียนจบขั้นปริญญาโท(โดยที่ไม่ได้แบ่งแยกปริญญาตรีและปริญญาโทออกจากกัน) [บางสาขาวิชา จะมีคำนำหน้าชื่อบัณฑิตที่แตกต่างออกไปจาก drs. เช่น mr.สำหรับสาขานิติศาสตร์, ir. สำหรับสาขาวิศวกรรมศาสตร์]

ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ได้มีการแบ่งแยกหลักสูตรปริญญาตรีและปริญญาโทออกจากกันในการเรียนระดับมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดความเป็นสากลตามระบบการศึกษาในสหภาพยุโรป (European Union) สำหรับสาขาวิชาส่วนใหญ่ในเนเธอร์แลนด์นั้น ปี1-3 เป็นการเรียนระดับปริญญาตรี เมื่อจบปีสามนักศึกษาดัชต์จะได้รับปริญญาตรี ส่วนปีที่ 4 เป็นการเรียนระดับปริญญาโท พอเรียนจบปีสี่ก็จะได้รับปริญญาโท หลักสูตรปริญญาโทโดยปกติจะใช้เวลาเรียน 1 ปี (ถ้าทำวิทยานิพนธ์เสร็จทันตามกำหนด) มีปริญญาโทบางหลักสูตรที่ใช้เวลาเรียนสองปี เช่น หลักสูตรการเรียนแบบวิจัย(research master) ซึ่งจะเน้นเกี่ยวกับการทำวิจัยตามสาขาที่เรียนและเตรียมพร้อมสำหรับการเรียนต่อปริญญาเอก ส่วนการเรียนปริญญาเอกโดยปกติจะใช้เวลา 4 ปี บางที่ก็กำหนดไว้ 5 ปี แล้วแต่ข้อตกลงกับสถานศึกษา

การเข้าเรียนปริญญาตรี ?> ในเนเธอร์แลนด์นั้นขึ้นอยู่กับประเภทของโรงเรียนมัธยมและระดับการศึกษาชั้นมัธยม ที่เป็นตัวกำหนดว่านักเรียนดัชต์จะมีสิทธิเข้าเรียนต่อปริญญาตรี ในโฮคสโคลหรือว่าในมหาวิทยาลัย บางสาขาวิชาในมหาวิทยาลัยจะกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครว่าต้องมีคะแนนสอบขั้นต่ำที่ได้ในระดับมัธยมเท่าไร เช่น คณะแพทยศาสตร์ ซึ่งก็จำกัดจำนวนนักศึกษาต่อปีเช่นเดียวกัน แต่สาขาวิชาส่วนใหญ่ไม่มีการจำกัดจำนวนนักศึกษาที่เข้าเรียนในแต่ละปี ทั้งนี้เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้คนได้เรียนเยอะๆ

การเข้าเรียนปริญญาโท ?> ถ้าเรียนจบปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยแล้วก็สามารถเรียนต่อปริญญาโทในสาขาที่เรียนจบมาได้เลย แต่ถ้าเรียนจบปริญญาตรีในโฮคสโคล ต้องผ่านเกณฑ์การคัดเลือกตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดเพื่อเข้าเรียนต่อปริญญาโทในมหาวิทยาลัย พอได้รับเลือกให้เข้าเรียนต่อแล้วต้องเข้าเรียนหลักสูตรเตรียมปริญญาโทก่อน 1 ปี เรียกว่า สะค้าเกิ้ลยา (schakeljaar) หลังจากนั้นถึงจะได้เข้าเรียนหลักสูตรปริญญาโทจริงๆ หลักสูตรเตรียมปริญญาโทนี้ บางทีก็ใช้กับนักศึกษาที่จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยในสาขาที่ไม่ตรงกับสาขาที่จะเรียนในปริญญาโทด้วย

สำหรับนักศึกษาต่างชาติที่สมัครเข้าเรียนปริญญาโทภาคภาษาอังกฤษจะต้องมีการยื่นคะแนน TOEFL หรือ IELTS ด้วย นอกจากนี้บางสาขาวิชาผู้สมัครต้องทำแบบทดสอบความรู้ความสามารถในสาขาวิชานั้นนอกเหนือไปจากแบบทดสอบทางภาษาด้วย โดยปกติหลักสูตรปริญญาโทเริ่มดำเนินการสอนช่วงต้นเดือนกันยายน บางหลักสูตรสามารถเริ่มต้นเรียนได้ในเดือนกุมภาพันธ์

การเข้าทำปริญญาเอก ?> โดยปกติการเข้าทำปริญญาเอกที่นี่ (ไม่นับนักศึกษาต่างชาติที่ได้ทุนเรียนจากประเทศของตน) ต้องทำการสมัครตามประกาศรับสมัครงานของมหาวิทยาลัย เหมือนกับการสมัครเข้าทำงานและจะได้รับเงินเดือนจากมหาวิทยาลัยด้วย คล้ายกับว่าทำงานเป็นนักวิจัยให้มหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยจะมีโครงร่างวิจัยและทุนวิจัยพร้อมแล้วจึงประกาศรับสมัครนักศึกษาปริญญาเอก

ซึ่งการได้รับเลือกให้เข้าสัมภาษณ์รอบแรกนั้น คณะกรรมการจะคัดเลือกผู้สมัครจากประวัติการศึกษา, การวิจัยและประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับหัวข้องานวิจัยปริญญาเอกนั้นเป็นสำคัญ

[สำหรับสาขาจิตวิทยานั้น โดยปกติจะมีการเรียกสอบสัมภาษณ์รอบแรกประมาณ  5 คนเพื่อทำความรู้จักกับผู้สมัครให้มากขึ้น จากนั้นจะคัดเลือกผู้สมัครประมาณ 3 คนเข้ารอบสอง โดยมีโจทย์เกี่ยวกับหัวข้อการวิจัย (ตามที่ประกาศรับสมัคร) ให้ผู้สมัครทำเพื่อวัดความรู้ความสามารถทางการวิจัยของผู้สมัคร รอบนี้จะตัดสินกันที่มันสมองล้วนๆ โดยปกติรอบสองจะถือว่าเป็นรอบสุดท้าย ถ้าตัดสินไม่ได้จริงๆถึงจะมีรอบสามต่อไป ]

อีกวิธีหนึ่งก็คือ การสมัครเข้าเรียนปริญญาเอกโดยตรงกับทางมหาวิทยาลัย โดยที่ต้องออกค่าใช้จ่ายในการเรียนและวิจัยทั้งหมดเอง ตรงนี้จะมีบางสถาบันที่เปิดหลักสูตรปริญญาเอกแบบนี้โดยตรง หรือไม่ผู้สมัครก็ต้องลองยื่นโครงร่างวิจัยให้ศาสตราจารย์ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องนั้นอ่านดูเพื่อขอให้เขาเป็น supervisor ให้ ถ้าเขาสนใจโครงร่างวิจัยที่เสนอไปก็จะมีสิทธิได้เข้าทำปริญญาเอก และอาจจะโชคดีถ้าสามารถขอทุนทำวิจัยปริญญาเอกได้ในภายหลัง ทำให้ไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายในการทำวิจัยเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นนักศึกษาปริญญาเอกบางคนอาจไม่ต้องผ่านขั้นตอนการสมัครให้วุ่นวาย เพราะว่าได้รับการชักชวนโดยตรงจากศาสตราจารย์ ที่เป็นผู้ดูแลงานวิจัยนั้นให้เข้ามาทำปริญญาเอกได้เลย (ตรงนี้ต้องมีผลการเรียนและผลสอบวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทที่เยี่ยมจริงๆ)

สำหรับชาวต่างชาติที่จบปริญญาตรีและโทที่เนเธอร์แลนด์ หรือจบเฉพาะปริญญาโทที่เนเธอร์แลนด์และอาศัยในเนเธอร์แลนด์อย่างน้อย 5 ปีแล้วสามารถสมัครขอรับทุนทำปริญญาเอกได้จาก โครงการ Mosaic โดยองค์กรวิจัย NWO ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเปิดรับสมัครทุกปี และปิดรับสมัครราวเดือนมกราคม อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมตามเว็บไซต์นี้

http://www.nwo.nl/nwohome.nsf/pages/NWOP_5RNBJK_Eng

โดย กวาง (Apiradee Poungjit)

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.