RECENT STORIES

กินแบบดัตช์ๆ (ตอนจบ)

(อ้างอิงจาก – http://thaistudents.nl/tsan_newsletter/idea_written/Aug10)

มื้อเย็น และโอกาสพิเศษ

ในมื้อเย็นนั้นเรามักจะทานอาหารที่หลากหลายและหนักกว่ามื้ออื่นๆ พร้อมกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง  แล้วก็ยังมีเวลานั่งทานกันนานๆ เพื่อเล่าเรื่องราวในแต่ละวันให้กับคู่สนทนาบนโต๊ะทานข้าว เพื่อนๆ ชาว TSAN ของเราที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาศึกษาเล่าเรียนที่นี่ก็คงอดไม่ได้ที่จะคิดถึงครอบครัวและเพื่อนๆที่เมืองไทยตอนทานข้าวเย็นนี่ล่ะค่ะ บางครั้งบางทีก็ยุ่งกับการเรียนจนต้องรีบๆกินแล้วก็กลับไปอ่านหนังสือต่อ บ้างก็ต้องนั่งกินคนเดียว ทำให้ห่อเหี่ยวใจไม่น้อย ความโหยหาการทานอาหารเย็นแบบครอบครัวอบอุ่นๆทำให้ผู้เขียนมีโอกาสไปนั่งทานข้าวเย็นที่บ้านเพื่อนชาวดัตช์อยู่หลายครั้งหลายหน บางทีปีใหม่คริสต์มาสด้วยความไม่อยากเห็นเพื่อนอยู่บ้านเหงาๆ เพื่อนชาวดัตช์เค้าก็ชวนเราไปทานข้าวด้วย ก็เลยอยากจะมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสนี้ค่ะ

dutchfood3

ภาพ Potatoes Eater ของ Vincent Van Gogh ที่แสดงให้เห็นถึงความเรียบง่ายของอาหาร และความสมถะของชาวดัตช์

เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่หนาว ลมแรง และเฉอะแฉะ ในสมัยที่ยังไม่มีไฟฟ้า ไม่มีเครื่องทำความร้อน อาหารเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ชาวดัตช์สามารถเผชิญกับอากาศที่หนาวเหน็บแบบนี้  ลองคิดดูว่าถ้าหากต้องทำงาน 10-16 ชั่วโมงในไร่ในสวนหรือโรงงาน ทานไปเท่าไหร่ก็คงจะถูกเผาผลาญจนหมด มื้อเย็นแท้ๆของชาวดัตช์ที่ทานกันประมาณหกโมงเย็นนั้นถือว่าเป็นมื้อที่หนัก และเน้นอาหารที่ไม่ยุ่งยาก เครื่องปรุงน้อยที่สุด เริ่มด้วยอาหารเรียกน้ำย่อย (voorgerecht อ่านว่า ฟอร์เคอเร็ค อย่าลืมทำเสียงขรุขระตรง ค นะจ๊ะ) เช่น ซุป หรือ สลัด ซึ่งเพื่อนๆควรระวังเจ้าซุปถั่ว erwtensoep (เอีรยตเติ่นซุป)/snert (สเนิร์ต) ที่เข้มข้นจนช้อนตั้งในถ้วยซุปได้ ไปสั่งมาอาจอิ่มจนทานจานต่อไปไม่ได้ ต่อจากนั้นเป็นอาหารหนัก (hoofdgerecht โฮฟด์เคอเร็ค) คลาสสิกของชาวดัตช์คือ มันฝรั่ง(ต้ม ทอด หรือบด) เนื้อหรือปลา กับผัก  stamppot (สตั้มป็อต) หรือมันฝรั่งบดผสมผักกินกับไส้กรอกนั้นชาวดัตช์นิยมทานกันมากช่วงฤดูหนาว  hutspot (ฮึตสป็อต) ที่คล้ายๆกับสตั้มป็อตแต่ใส่แครอท mosselen (ม็อสเซอเล่อ) ก็คือหอยแมลงภู่อบ บางครั้งแพนเค้ก หรือ pannenkoek (ปั้นเนิ่นกุก) ใส่แฮม ชีส หรือใส้อื่นๆก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เพื่อนๆที่อยากลองทานอาหารดัตช์แต่ยังหาคนทำให้ไม่ได้ลองแวะมาที่ร้าน De Keuken van 1870 ที่อัมสเตอร์ดัมดูค่ะ ที่แนะนำร้านนี้ก็คือราคาไม่แพง รสชาติก็พอใช้ได้ ส่วนร้านแพนเค้กนี่ก็หาได้เกือบทุกที่ไม่เว้นโรงอาหารของมหาวิทยาลัย จากอาหารหนักก็คือของหวาน  ที่นิยมทานมากในหมู่ชาวดัตช์ก็คือ vla (ฟลา) ก็คือคัสตาร์ดรสต่างๆ อันนี้ลองหาซื้อมาทานได้จากซุปเปอร์มาเก็ตทั่วไป หลังของหวานนั้นอาจจะมีการตบท้ายด้วยชาหรือกาแฟ

dutchfood4

ในปัจจุบันมีผู้คนหลากหลายชนชาติเข้ามาอาศัยในเนเธอร์แลนด์ ชาวดัตช์เองก็ชอบลองทานอาหารจากชาติอื่นๆ โดยเฉพาะอาหารอินโดนีเซียที่แพร่หลายในประเทศตั้งแต่ยุคอาณานิคม โดยความเห็นส่วนตัวแล้วอาหารอินโดเค้าจะเน้นเครื่องแกงเข้มข้น รสชาติก็จัดแต่จะเปรี้ยวน้อยกว่าอาหารไทย แต่ยังไงก็ลองไปหาทานดูตามร้านอาหารอินโดที่กระจัดกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆในเนเธอร์แลนด์ได้ค่ะ นอกจากนี้ความเปิดกว้างรับอาหารของชาติอื่นๆเข้ามาอยู่ในเมนูอาหารของชาวดัตช์ทำให้มีแม้แต่ชุดทำซูชิในซุเปอร์มาเก็ต ตอนนี้ Albert Heijn แถวๆบ้านผู้เขียนมีทั้งน้ำปลา เครื่องแกง เครื่องทำผัดกะเพราะสำเร็จรูปแล้วค่ะ

ในวันสำคัญบางโอกาส ชาวดัตช์เค้าก็จะมีอาหารพิเศษเพิ่มขึ้นมา เช่นในวันซินเตอร์คลาส (Sinterklaas) หรือวันเซนต์นิโคลาส ทุกวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เค้าก็ทานขนมเช่น speculaas (สเป็คคูวลาส: คุ้กกี้ใส่เครื่องเทศนานาชนิด)  pepernoten (เปเปอร์โน้ตเต่อะ: คุ้กกี้รสชาติคล้ายขนมปังขิง)  marzipan (มาซิปัน)  เป็นขนมปังไส้อัลมอนด์บด ในวันคริสต์มาสนั้นแน่นอนว่ามื้อเย็นจะต้องหรูที่สุด  การนั่งล้อมวงทาน Gourmet ที่ให้อารมณ์คล้ายกับบาร์บีคิวก็เป็นที่นิยมกันมากในเทศกาลคริสต์มาส ก่อนวันปีใหม่ตามท้องถนนก็จะมี Oliebollen (โอลีบอลเล่อะ) ขนมปังทอดรสชาติคล้ายโดนัท  อาหารดัตช์อื่นๆนอกจากนี้ผู้เขียนคงให้เป็นหน้าที่ของชาว TSAN ทานกันแล้วอย่าลืมมาเล่าให้พวกเราฟังด้วยค่ะ

ข้อมูลเพิ่มเติม:     Why potatoes? Why rice? ที่นี่

Pessireron, S. (2005), Dutch Delight . Alphen aan den Rijn: N&L Publishing

โดย ทีม TSAN Newsletter 2010

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.